ประกาศวันหยุดสงกรานต์ 13 – 15 เมษายน เพิ่งมีในรัชกาลที่ 9

 

 

ในอดีตวันสงกรานต์ไม่ได้ตรงกับวันที่ 13 – 15 เมษายนเสมอไป โดยแต่ละปีต้องรอให้โหรคำนวณว่าจะตรงกับวันอะไร เพราะบางทีก็เลื่อนไปเลื่อนมา เช่น ตรงกับวันที่ 11 เมษายนบ้าง วันที่ 12 เมษายนบ้าง การกำหนดให้วันที่ 13 เมษายนของทุกปีเป็นวันสงกรานต์เพิ่งเกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร นี้เอง อย่างไรก็ตามก่อนหน้านั้นวันหยุดเนื่องในวันสงกรานต์มีการเปลี่ยนแปลงมาหลายครั้ง


มื่อ พ.ศ. 2456 พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มีพระบรมราชโองการประกาศวันหยุดราชการนักขัตฤกษ์ประจำปีเป็นปีแรกด้วยเหตุผล 3 ประการคือ 1) เป็นวันหยุดพักผ่อนของข้าราชการ 2) เพื่อแสดงความเคารพพระบรมราชวงศ์ และ 3) เพื่อเคารพต่อพระศาสนา โดยกำหนดให้ข้าราชการกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ หยุดทำงานใน “พระราชพิธีตะรุษะสงกรานต์ แลนักขัตฤกษ์” ตั้งแต่ 28 มีนาคม ถึง 15 เมษายน รวม 19 วัน และเมื่อนับรวมกับวันหยุดอื่นอีก เช่น “วิสาขะบูชา” “เข้าปุริมพรรษา” “ทำบุญพระบรมอัฐิพระพุทธเจ้าหลวง” “ทำบุญพระบรมอัฐิ และพระราชพิธีฉัตรมงคล” “เฉลิมพระชนพรรษา” “มาฆะบูชา จาตุรงค์สันนิบาต” ทั้งปีจะมีวันหยุดราชการทั้งหมด 7 วัน รวมแล้วทั้งปีมีวันหยุดรวม 36 วัน


ในปีถัดมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการให้ข้าราชการกระทรวงยุติธรรมได้หยุดพักยาวต่อเนื่องจากสงกรานต์ตั้งแต่ 28 มีนาคม ถึง 27 เมษายน รวม 31 วัน ไม่นับวันหยุดราชการอื่น ๆ ทรงเห็นว่าข้าราชการกระทรวงยุติธรรมทำงานหนัก เพราะมีคดีความมาก ทำให้ต้องทำงานเกินเวลาเพื่อไม่ให้งานคั่งค้าง จนกระทั่ง ใน พ.ศ. 2468 ประกาศให้หยุด “ตะรุสะสงกรานต์”เหลือเพียง 4 วัน ตั้งแต่ วันที่ 31 มีนาคม ถึง 3 เมษายน


ในขณะนั้นประเทศไทยยังถือว่าเดือนมีนาคมคือเดือนสุดท้ายของปี และเดือนเมษายนถือเป็นเดือนแรกของปี เดิมทีวันสงกรานต์และวันปีใหม่ของราชสำนักก็คือวันเดียวกัน ดังปรากฏในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีที่เขียนว่า “วันตรุษสงกรานต์ (New Year)” และ “วันตรุษสงกรานต์และขึ้นปีใหม่ (New Year)” ด้วยเหตุนี้จึงประกาศเป็นวันหยุดไว้ในคราวเดียว


หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อกำหนดวันหยุดราชการและการประกอบพิธีทางราชการที่เกี่ยวข้องกับวันหยุดราชการให้เป็นระเบียบเรียบร้อยรัดกุมและแน่นอน มีหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ เป็นประธาน และหลวงวิจิตรวาทการ เป็นหนึ่งในกรรมการ แต่ยังคงประกาศวันหยุดสงกรานต์ช่วงปลายเดือนมีนคมจนถึงต้นเดือนเมษายนเหมือนแต่ก่อน


ต่อมารัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้วางระเบียบการกำหนดเวลาทำงานและวันหยุดราชการขึ้นใหม่ ใน พ.ศ. 2482 มีวันหยุดราชการประจำปีเพิ่มเติมอาทิ วันชาติ (23 – 25 มิถุนายน รวม 3 วัน) (วันรัฐธรรมนูญ 9 – 11 ธันวาคม รวม 3 วัน) และยังกำหนดเวลาทำงานโดยให้ข้าราชการเริ่มทำงานเวลา 09.00 – 16.00 น. พักรับประทานอาหารกลางวัน 1 ชั่วโมง เวลา 12.00 – 13.00 น. และวันเสาร์ทำงานครึ่งวัน วันอาทิตย์เป็นวันหยุดประจำสัปดาห์ แต่ถ้าโรงเรียนใดที่อาศัยวัดเป็นสถานศึกษาให้ถือเอาวันพระเป็นวันหยุด


เมื่อมีการประกาศเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ตามอย่างสากล คือ 1 มกราคม 2483 จึงเป็นครั้งแรกที่วันหยุดวันสงกรานต์และวันปีใหม่ไม่ใช่วันเดียวกัน กำหนดให้วันปีใหม่เป็นวันหยุด วันที่ 31 ธันวาคมถึง 2 มกราคม และไม่ปรากฏในเอกสารว่าให้สงกรานต์เป็นวันหยุด ซึ่งเป็นปีเดียวกับการเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ของไทยให้เร็วขึ้นจากวันที่ 1 เมษายน เป็นวันที่ 1 มกราคม ตามแบบประเทศอื่นๆ ทำให้ปฏิทินไทยหายไป 3 เดือน (1 มกราคม 2483 ถึง 31 มีนาคม 2483) คือ ปีใหม่หรือวันสงกรานต์ที่ถือเป็นวันเดียวกันจึงหายไป (เดิม วันที่ 31 มีนาคม ถึง 2 - 3 เมษายน)


จากประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องกำหนดเวลาทำงานและวันหยุดราชการ ช่วงตั้งแต่ พ.ศ. 2483 - 2490 ไม่พบประกาศจากทางการกำหนดให้วันสงกรานต์เป็นวันหยุด แต่มีวันหยุดที่สอดรับกับสถานการณ์บ้านเมืองในยุคนั้นเพิ่มเข้ามา เช่น วันประกาศสันติภาพใน พ.ศ. 2489 เพื่อเป็นการระลึกถึงเหตุการณ์การที่ขบวนการเสรีไทยประกาศเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร และสนับสนุนสหประชาชาติเพื่อสันติภาพของโลก เพื่อให้วันหยุดราชการประจำปีสอดรับกับยุคสมัย


ใน พ.ศ. 2491 ออกระเบียบกำหนดเวลาทำงานและวันหยุดราชการขึ้นใหม่โดยกำหนดให้วันหยุดสงกรานต์ตรงกับวันที่ 13 – 15 เมษายน นับเป็นปีแรกที่วันหยุดสงกรานต์อยู่ในช่วงกลางเดือนเมษายน ดังที่เราคุ้นเคยกันดี


ระเบียบดังกล่าวใช้จนถึง พ.ศ. 2497 คณะรัฐมนตรีมีความเห็นว่าวันหยุดราชการดังที่ใช้อยู่นั้น มีจำนวนวันหยุดรวมทั้งปีมากเกินไป กล่าวคือมีจำนวนรวมถึง 28 วันต่อปี ส่งผลต่อการบริหารราชการและจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของชาติ จึงทำการแก้ไขกำหนดเวลาทำงานและวันหยุดราชการอีกครั้ง แก้ไขปรับลดทำให้มีวันหยุดประจำปีเหลือ 12 วันต่อปี เป็นที่น่าสังเกตว่าเลือกตัดวันสงกรานต์ออกจากวันหยุดราชการ และเพิ่มวันสหประชาชาติ 24 ตุลาคม เป็นวันหยุดราชการเพิ่มเติมเข้ามา


วันสงกรานต์เป็นวันหยุดราชการประจำปีอีกครั้ง ใน พ.ศ. 2500 โดยหยุดเพียง 1 วันในวันที่ 13 เมษายน ใช้ระเบียบดังกล่าวเรื่อยมาจนกระทั่ง พ.ศ. 2532 คณะรัฐมนตรีมีมติเปลี่ยนวันหยุดราชการประจำปีวันสงกรานต์เป็นวันที่ 12 – 14 เมษายน และเปลี่ยนกลับมาเป็นวันที่ 13 -15 เมษายนอีกครั้งใน พ.ศ. 2441 ด้วยเหตุผลที่ว่า ”เพื่อให้คนไทยในภาคต่าง ๆ ที่ทำงานในต่างถิ่น ได้มีโอกาสกลับไปร่วมกิจกรรมให้ตรงกับวันสำคัญของประเพณีที่ยึดถือมาแต่โบราณ”


มติคณะรัฐมนตรีเมื่อ พ.ศ. 2544 กำหนดให้กรณีวันหยุดราชการประจำปีวันใดตรงกับวันหยุดราชการประจำสัปดาห์ ให้เลื่อนวันหยุดราชการประจำปีวันนั้นไปหยุดในวันทำการถัดไป โดยให้หยุดชดเชยได้ไม่เกิน 1 วัน ทั้งนี้ เป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรีที่จะพิจารณาประกาศกำหนดให้งดวันหยุดชดเชยหรือเปลี่ยนวันหยุดชดเชยได้ตามความเหมาะสม ดังนั้นในบางปีอาจได้หยุดยาวเนื่องในวันสงกรานต์เนื่องจากตรงกับเสาร์อาทิตย์ที่ถือว่าเป็นวันหยุดประจำสัปดาห์


เดิมทีวันสงกรานต์ของราชสำนักและชาวบ้านไม่ตรงกัน วันสงกรานต์ของราชสำนักตรงกับขึ้น 1 ค่ำเดือน 5 ส่วนของชาวบ้าน เช่น ชาวล้านนา กำหนดให้วันสงกรานต์หรือวันปี๋ใหม่เมือง ตามการเคลื่อนของดวงอาทิตย์เข้าสู่ราศีเมษ โดยในวันแรกเรียกว่า วันสังขานต์ล่อง และวันที่ 2 เรียกว่าวันเนาว์หรือวันเน่า ส่วนในวันที่ 3 เรียกว่าวันพญาวันหรือวันเถลิงศก ซึ่งวันดังกล่าวตอนนี้ได้เคลื่อนไปตรงกับวันที่ 14-16 เมษายน มาตั้งแต่ พ.ศ. 2556 แล้ว และใน พ.ศ. 2568 วันสงกรานต์จะเคลื่อนไปเป็น 15-17 เมษายน การที่ทางราชการกำหนดวันหยุดราชการอย่างตายตัวคือ 13-15 เมษายน ส่งผลให้การปฏิบัติกิจกรรม พิธีกรรมต่างๆ ตามประเพณีขึ้นปีใหม่ของไทยผิดเพี้ยน เช่น แทนที่จะไปวัดวันพญาวัน แต่กลับไปวัดวันเน่า จึงถือว่าไม่เป็นมงคลต่อตนเองและบ้านเมือง

 

การประกาศให้สงกรานต์เป็นวันหยุดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด แม้ว่าในบางปีจะถูกตัดออกจากวันหยุดราชการ แต่ไม่มีครั้งใดเลย ที่ทางการประกาศเลื่อนวันหยุดสงกรานต์โดยไม่อยู่ในเดือนเมษายน เช่นที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2563 นี้ และนี่อาจเป็นครั้งแรกในรอบ 107 ปี นับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ที่เริ่มการประกาศวันหยุดสงกรานต์

อะไรที่ไม่เคยได้เห็น ก็จะได้เห็นในยุค "โควิท-19" แพร่ระบาดทั่วโลก

 

 

 

สรวิชญ์ ฤทธิจรูญโรจน์

 

 

 

 

 

บรรณานุกรม

 

 

 


ประกาศกำหนดวันหยุดราชการนักขัตฤกษ์ประจำปี (พระพุทธศักราช 2456). (2456, 30 มีนาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 30 หน้า 533 - 535.


ประกาศเรื่องวันหยุด. . (2457, 12 เมษายน). ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 31 หน้า 57 - 58.


ประกาศกำหนดวันหยุดราชการนักขัตฤกษ์ประจำปี (2468. 14 กุมภาพันธ์). ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 42 หน้า 336 - 337.


แจ้งความเรื่องตั้งกรรมการพิจารณาเรื่องวันหยุดราชการและการประกอบพิธีทางราชการที่เกี่ยวกับวันหยุดราชการ. (2478, 24 พฤศจิกายน). ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 52 หน้า 2586.


ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องกำหนดเวลาทำงานและวันหยุดราชการ. (2482, 4 มีนาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 56 หน้า 3551- 3553.


ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องกำหนดเวลาทำงานและวันหยุดราชการ. (2483, 17 กันยายน). ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 57 หน้า 1754 - 1756.


ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องกำหนดเวลาทำงานและวันหยุดราชการ พ.ศ.2491. (2491, 10 สิงหาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 65 ตอนที่ 45 หน้า 2312 - 2314.


ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องกำหนดเวลาทำงานและวันหยุดราชการ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2497. (2497, 18 พฤษภาคม). เล่มที่ 71 ตอนที่ 32 หน้า 1260 - 1262.


ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องกำหนดเวลาทำงานและวันหยุดราชการ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2497. (2497, 3 สิงหาคม). เล่มที่ 71 ตอนที่ 49 หน้า 1684 - 1685.


ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องกำหนดเวลาทำงานและวันหยุดราชการ (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2500. (2500, 15 ตุลาคม). เล่มที่ 74 ตอนที่ 88 หน้า 2466 - 2467.


ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องกำหนดเวลาทำงานและวันหยุดราชการ (ฉบับที่ 19) พ.ศ.2540. (2540, 1 เมษายน). เล่มที่ 114 ตอนที่ 26 ง หน้า 53.


konlanna [นามแฝง]. (5 เมษายน 2561). เลื่อนวัน “ปี๋ใหม่เมือง” แค่เรื่องที่ควรรับรู้ หรือต้องปรับวิถีฯ. เข้าถึงจาก https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/692926

view1292

วันที่แก้ไขล่าสุด : 13 เมษายน 2563

คำแนะนำการใช้งาน
ขยายขนาดตัวอักษร
เพิ่มระยะห่างตัวอักษร
เน้นการเชื่อมโยง
ปรับชุดสี
เปิดการใช้งาน
ปิดการใช้งาน
คำแนะนำการใช้งาน
เริ่มต้นใช้งาน
Text Size

การขยายขนาดตัวอักษร

สามารถเลือกปรับขนาดตัวอักษรได้ 3 ระดับ คือ 20% 30% และ 40% จากขนาดมาตรฐาน

Text Spacing

การเพิ่มระยะห่างตัวอักษร

การปรับระยะห่างของตัวอักษร และช่องว่างระหว่างบรรทัด สามารถปรับได้ 3 ระดับ เพื่อให้อ่านข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น

Highlight Links

เน้นการเชื่อมโยง

ช่วยเน้นและแยกส่วนของลิงค์หรือปุ่มต่างๆ ออกจาก เนื้อหาภายในเว็บไซต์ เพื่อให้สามารถมองเห็นปุ่มได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

Change Color

เลือกปรับชุดสี

สามารถเลือกปรับชุดสีของเว็บไซต์ได้ 4 แบบตัวอักษรและปุ่มต่างๆ มีสีเข้มคมชัด มองเห็นได้ชัดเจน